Meet our Production
Camouflageผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องแบบผ้าสีลายพรางของกองทัพบก งานวิจัยแบบและลายผ้า ได้นำผ้าพรางลาย WOOD LAND เดิมมาสแกนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อหาพื้นที่รวมของแต่ละสีพบว่า สีดำประมาณ 14.67 เปอร์เซ็นต์ สีน้ำตาล 32.36 เปอร์เซ็นต์ สีเขียว 31.95 เปอร์เซ็นต์ และสีเขียวอ่อน 21.02 เปอร์เซ็นต์ และนำมาแต่งลายจาก WOOD LAND มาเป็นลายพรางดิจิตอล และนำเข้าสู่กระบวนการผลิตจนได้ผ้าลายพรางดิจิตอลขึ้นมา ตามค่าพื้นที่รวมของแต่ละสีเหมือนเดิม เพื่อใช้ในการพรางเปรียบเทียบในภูมิประเทศจริง ผลการเปรียบเทียบลายพราง WOOD LAND กับลายพรางดิจิตอล จากการพรางในพื้นที่จริง การมองเห็นในระยะต่างๆ กัน ทหารที่สวมชุดผ้าลายพรางดิจิตอลจะเห็นช้ากว่า และความกลมกลืนสูงกว่า จึงทำให้มีการพัฒนาผ้าพิมพ์ลายพราง WOOD LAND มาเป็นลายพรางดิจิตอล โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์สีของแต่ละสี ผ้าพิมพ์ลายพรางดิจิตอล เป็นลายที่พรางในภูมิประเทศได้ดีกว่า การตรวจจับด้วยสายตา และกล้องส่องระยะใกล้ได้ยากกว่า และกลมกลืนกับธรรมชาติมากกว่าต่อมาได้มีการปรับปรุงผ้าสีลายพรางเพิ่มเติมถึงที่มาของลาย และการพรางที่สมบูรณ์แบบเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยทำการศึกษาและวิจัย ในภูมิประเทศจริงตามเป้าหมายที่ทางราชการกำหนด ผลของการศึกษาวิจัย 1. ได้เฉดสีที่กลมกลืน กับสภาพแวดล้อมมากขึ้น เข้ากับภูมิประเทศจริงมากขึ้น เฉดสีที่ได้มา ประกอบด้วย 1. สีเขียวอ่อน2. สีเขียว3. สีน้ำตาล4. สีดำ ในแต่ละเฉดสีมีค่าความเข้มของแต่ละสีอยู่ด้วย เป็นข้อกำหนดหนึ่งในการวิจัย 2.ได้พื้นที่ของแต่ละเฉดสี ขึ้นมาใหม่ ตามสภาพพื้นที่ และภูมิประเทศจริง โดยพบว่าพื้นที่รวมของสี ดำมีประมาณ 15.99 เปอร์เซ็นต์ สีน้ำตาลมีประมาณ 25.63 เปอร์เซ็นต์ สีเขียวประมาณ 45.94 เปอร์เซ็นต์ และสีเขียวอ่อนมีประมาณ 12.44 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานวิจัยและพัฒนา ของทางราชการจากหลายพื้นที่ จนได้ข้อสรุปพื้นที่ของแต่ละเฉดสีออกมาได้ และมีความใกล้เคียงกับภูมิประเทศจริงในประเทศไทยมากที่สุด
การหาพื้นที่ของแต่ละเฉดสีโดยเครื่องคอมพิวเตอร์สแกนสีรวมสีคำนวณเปอร์เซ็นต์ และปรับลายให้เข้ากับพื้นที่ และภูมิประเทศจริง งานวิจัยเมื่อได้เฉดสีค่าความเข้มของแต่ละสี พื้นที่ของแต่ละสีแล้ว ต้องวิจัยหาค่าการสะท้อนคลื่นอินฟราเรดในเวลากลางคืนด้วย เพื่อให้สีผ้าพรางที่ทำขึ้น ต้องมีคุณสมบัติพรางในเวลากลางคืนด้วย การทำให้สีผ้าพราง พรางได้ในเวลากลางคืนนั้น ต้องจัดค่าการสะท้อนคลื่นอินฟราเรดให้มีเปอร์เซ็นต์ค่าการสะท้อนของสีแต่ละสีแตกต่างกัน ตามความเข้มของสี ก็จะทำให้ผ้าลายพราง เกิดการพรางขึ้นได้ในเวลากลางคืนเมื่อมองผ่านกล้องตรวจการณ์ในเวลากลางคืน ทำให้ตรวจจับยาก เพราะเกิดความกลมกลืนกับธรรมชาตินั้นเอง
ทำให้ผ้าสีพรางดิจิตอลใหม่ มีการพรางตั้งแต่แสงที่ตามองเห็น (VISIBLE RANGE) ช่วงความยาวคลื่น ระหว่าง 300 – 700 นาโนเมตร ส่วนการมองเห็นในย่านความถี่ อินฟราเรด (INFRARED) ในเวลากลางคืน หรือในที่ไม่มีแสง ต้องใช้กล้องอินฟราเรดเป็นอุปกรณ์ช่วยในการมอง กล้องอินฟราเรดจะตอบสนอง ต่อช่วงความยาวคลื่น ของรังสีอินฟราเรดอยู่ระหว่าง 700 – 1,000 นาโนเมตร ภาพชุดพรางกลางวันทั้ง 3 ชุดสีและลายเหมือนกันทั้งหมด แต่ในเวลากลางคืนมีความแตกต่างชุดที่ 1. กลางคืนสีทุกสีรวมตัวกันค่าการสะท้อนสูง (ไม่สามารถพรางได้) ชุดที่ 2. กลางคืนสีทุกสีรวมตัวกันค่าการสะท้อนต่ำ (ไม่สามารถพรางได้) ชุดที่ 3. กลางคืนสีทุกสีแยกออกจากกันค่าการสะท้อนแยกกัน (สามารถพรางได้) ผ้าสีลายพราง ต้องพรางได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ถึงจะเป็นผ้าพรางที่สมบูรณ์แบบผลการวิจัยค่า INFRARED REFLECTANCE ที่คงที่ ทำให้การย้อม และพิมพ์ผ้าสีพราง ต้องมีการจัดการคลื่นในลักษณะที่ ใกล้เคียงกับค่าการสะท้อนตามความเข้มของภูมิประเทศ เพื่อป้องกันการสังเกตและแยกแยะได้จากการมองเห็นจากการใช้กล้องตรวจการณ์กลางคืนในช่วงความยาวคลื่นที่ 700 - 1,100 นาโนเมตร ทำให้งานวิจัยและพัฒนา นอกจากจัดทำความเหมือนของสีบนผ้าพราง ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติเพื่อผลการพรางในเวลากลางวันแล้ว (ความยาวคลื่น WAVELENGHT กลางวันอยู่ในช่วง 300-700 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่สายตามนุษย์มองเห็นและแยกแยะสีต่างๆได้) ส่วนในเวลากลางคืน WAVELENGHT เริ่มตั้งแต่ 700-1,100 นาโนเมตร ช่วงเริ่มมืดหรือแสงน้อยลง WAVELENGHT จะอยู่ระหว่าง 700-850 นาโนเมตร ช่วงนี้จะมีแสงอยู่บ้างต้องใช้กล้องติดฟิล์ม Red Fitter ถึงจะมองเห็นชักเจนขึ้นส่วนช่วงระหว่าง 850-1,100 นาโนเมตรจะเป็นช่วงที่มืดสนิทไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าต้องใช้กล้อง Night Vision Device ใช้ในการมองค้นหาซึ่งมีคำจำกัดความว่า “ตรวจจับแสงที่หลงเหลือ” การขยายของแสงที่เหลืออยู่ได้ถูกทำให้ชัดเจนที่สุดภาพที่มองเห็นผ่านอุปกรณ์ตรวจจับในความมืด แตกต่างจากภาพที่เห็นทั่วไป ภาพที่มองเห็นผ่านกล้องจะปรากฏออกเป็นโทนสีเดียวตามความเข้มของแสงที่คงเหลือจากเครื่องขยาย (Night Vision – Device) สีที่เห็นจะเป็น ขาว - เทา – ดำ เครื่องมือวัดการสะท้อนจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสะท้อนคลื่นของวัตถุว่าแสงที่ตกกระทบนั้นถูกสะท้อนหรือดูดกลืน ผลที่ได้ = การสะท้อน + การดูดกลืน = 100% แสงที่ถูกสะท้อนกลับจะสามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่อง สเปกโตรโฟโตมิเตอร์ โดยใช้แบเรี่ยมซัลเฟตที่สามารถสะท้อนแสงได้ 100% เป็นค่ามาตรฐาน การทำแผนที่ลักษณะภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาค ทำให้เกิดลักษณะของกราฟที่แตกต่างกันตามกราฟการสะท้อนของคลื่น ลักษณะสำคัญในการทำผ้าลายพราง ถ้ามีสีเขียวจะต้องปรับรูปแบบการสะท้อนให้เข้ากับสีเขียวของใบไม้ ส่วนสีน้ำตาล จะถูกปรับให้เข้ากับลำต้นไม้ และสีดินในภูมิประเทศส่วนสีดำเป็นเงามืดในธรรมชาติซึ่งมีค่าการสะท้อนต่ำและดูดกลืนสูง
|